มาตรวัดความเร็ว และระยะทาง (Speedometer)
มาตรวัดตัวนี้มีหน้าที่บอกความเร็วของรถที่กำลังขับอยู่ ซึ่งบ้านเราจะใช้หน่วยเป็น กม./ชม. ถ้าพบว่ามาตรวัดมีหน่วยเป็น ไมล์/ชม. หรือมีทั้งสองหน่วยรวมอยู่ด้วยกัน แต่หน่วยที่เป็นไมล์ใหญ่โตกว่า แสดงให้ทราบว่ารถคันนั้นจะเป็นรถที่นำเข้ามากันเอง โดยสั่งจากต่างประเทศซึ่งไม่ใช่รถที่ออกแบบสเป็คให้มาใช้ในบ้านเรา ดังนั้นจึงต้องพึงระวังไว้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องการระบายความร้อนของเครื่องยนต์
สมัยก่อนการวัดความเร็ว เค้าจะใช้สายสลิง (สายไมล์) พ่วยกับห้องเกียร์ แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นมาตรวัดแบบอิเล็คทรอนิคส์ การทำงานราบเรียบต่อเนื่อง แม่นยำ ทนทาน และไม่มีเสียงดังขณะทำงาน เหนือกว่าพวกใช้สายไมล์ โดยการใช้สัญญาณอิเล็คทรอนิคส์ อาจจะรับจากห้องเกียร์โดยตรง หรือเฟืองท้ายก็ได้
มาตรวัดความเร็วนี้บางครั้งอาจพูดไม่ค่อยตรงความจริงเท่าไหร่นัก ซึ่งมีทั้งพูดเกินความจริง และพูดน้อยกว่าความเป็นจริง เช่น ความเร็วบนมาตรวัดชี้ที่เลข 100 กม./ชม. ความเร็วจริงอาจจะเป็นแค่ 90 กม./ชม หรือปาเข้าไป 110 กม./ชม. ก็ได้ พวกมาตรวัดของรถรุ่นเก่าที่ยังใช้สายไมล์ ถ้าเป็นรถยุโรปมักจะค่อนข้างพูดกันตรง ๆ ผิดกับรถญี่ปุ่นรู้สึกขี้คุยมากไปหน่อย แต่พวกรถญี่ปุ่นที่พูดตรงก็มีเหมือนกันนะ และพอมาถึงมาตรวัดความเร็วรุ่นใหม่ที่ใช้ระบบอิเล็คทรอนิคส์ พวกรถยุโรปส่วนใหญ่ก็ยังพูดจริงทำจริงเหมือนเดิม สำหรับกลุ่มรถญี่ปุ่นชักจะพูดตรงมากขึ้นกว่าสมัยก่อนเยอะเลย แถมบางรายยังถ่อมตัวพูดน้อยกว่าความเป็นจริงยังมี
ตัวการสำคัญที่ทำให้มาตรวัดความเร็วเกิดอาการเพี้ยนได้มากที่สุด อยู่ที่ขนาดของยางและกระทะล้อ ถ้าเราอยากทราบว่าความเร็วที่แสดงบนมาตรวัดนั้น ถูกต้องหรือผิดเพี้ยนไปเท่าไหร่ เราสามารถตรวจสอบได้หลายวิธี อย่างแรกโดยการวิ่งผ่านหลักกิโล (ระยะทาง 1 กม.) แล้วเอาเวลาที่ได้เทียบกับนาฬิกาบางแบบ ซึ่งจะมีตัวเลขบอกออกมาได้เป็นความเร็วเลยอยู่ที่ขอบนาฬิกา หรือเอาเวลาที่วิ่งผ่านหลักกิโลนี้ (เป็นวินาที) ไปหาร 3,600 ผลลัพธ์ที่ได้คือความเร็ว แต่มันก็มีปัญหาอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะการขับต้องใช้ความเร็วคงที่ และต้องจับเวลาให้ตรงอย่าให้พลาด หรือถ้ามีรายละเอียดของอัตราทดเกียร์กับเฟืองท้าย และมีมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ใช้ เราก็สามารถหาความเร็วหรือเปรียบเทียบได้จากรอบเครื่องจากสูตรการคำนวณ
การหาค่าของเส้นรอบวงยางให้ทำเครื่องหมายจุดที่ยางสัมผัสพื้น ทั้งที่ยางและที่พื้น (ควรเป็นล้อที่ใช้ขับเคลื่อน) ต่อจากนั้นเข็นรถให้ล้อหมุนไปครบ 1 รอบ จนจุดที่ทำเครื่องหมายบนยางในตอนแรกสัมผัสพื้น แล้วทำเครื่องหมายที่พื้นอีกครั้ง วัดความยาวหรือระยะห่างบนพื้นที่ทำเครื่องหมายไว้โดยมีหน่วยเป็น “เมตร” แล้วนำมาแทนค่าสูตรคำนวณ ส่วนอัตราทดเกียร์เราอยากรู้ความเร็วของที่เกียร์ไหน เราก็ใช้อัตราทดของเกียร์นั้น แต่ต้องจำไว้ว่าผลที่ได้นี้จะเป็นความเร็วที่ได้เมื่อรถวิ่ง 1,000 รอบต่อนาที เท่านั้น ถ้าเราอยากรู้ว่าที่รอบเครื่องเท่าไหร่ ในเกียร์ไหนได้ความเร็วเท่าไหร่ก็เอารอบเครื่องมาคูณเทียบได้ ตามหลักบัญญัติไตรยางศ์หารอบเครื่องก็ได้ แล้วนำผลที่ได้ไปเทียบกับมาตรวัดรอบเครื่องยนต์อีกที
สมมุติว่าเราได้ค่าจากการคำนวณว่า ที่เกียร์ 5 รถวิ่ง 1,000 รอบต่อนาทีได้ความเร็ว 328 กม./ชม. หรือ ที่ 2,000 รอบต่อนาทีได้ 76 กม./ชม. และที่ 3,000 รอบต่อนาทีได้ 114 กม./ชม. ถ้าเราวิ่งด้วยเกียร์ 5 ที่ 3,000 รอบต่อนาทีได้ 114 กม./ชม. ถ้าไม่ตรงแสดงว่ามาตรวัดความเร็วผิดเพี้ยนไปแล้ว หรือเราจะใช้วิธีคำนวณย้อนกลับออกมาได้ว่ที่ความเร็ว 38 กม./ชม. ใช้รอบเครื่อง 1,000 รอบต่อนาที ถ้าความเร็ว 100 กม./ชม. จะใช้รอบเครื่องเท่าไหร่ ให้เอาความเร็ว (38 กม./ชม.) ไปหาร 100,000 ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ 2,631 รอบต่อนาที ถ้าเราขับรถด้วยเกียร์ 5 จนเข็มวัดรอบชี้ที่รอบเครื่องประมาณ 2,650 รอบต่อนาที เข็มวัดความเร็วควรจะชี้ที่เลข 100 กม./ชม. ถ้าพบว่าเข็มชี้ไม่ตรงเลข 100 ก็แสดงว่ามาตรวัดความเร็วเพี้ยนตามตัวเลขที่ชี้นั่นแหละ เช่นชี้ที่ 96 ก็เพี้ยนไป 4 เปอร์เซ็นต์ หรือพูดเว่อร์ไปประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์นั่นเ อง แต่สำหรับพวกรถที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ ต้องเสียเวลาแช่ให้รอบเครื่องนิ่งกันระยะหนึ่งก่อน ถึงจะได้ค่าที่ถูกต้อง เพราะในระบบเกียร์อัตโนมัติมันจะมีการลื่นไถล หรือการแกว่งตัวของรอบเครื่องกับความเร็ว
ในมาตรวัดความเร็วนี้ยังมีที่อยู่ของมาตรวัดระยะทาง (Tripmeter) อยู่ด้วย ซึ่งจะมีทั้งระยะทางรวม และระยะทางย่อย โดยระยะทางรวมนี้จะบอกระยะการใช้รถทั้งหมด สำหรับใช้เป็นหลักในการกำหนดระยะเวลาบำรุงรักษาและซ่อมแซมรถส่วนระยะทางเป็นช่วง ๆ เพราะสามารถเซ็ทระยะกลับเป็น “0” หรือเริ่มต้นกันใหม่ได้
เจ้ามาตรวัดระยะทางนี้มันก็เหมือนกับมาตรวัดความเร็ว คือมีการผิดเพี้ยนไปได้ ถ้าอยากรู้ว่ามันตรงกับระยะทางจริงหรือไม่ ให้ทดสอบโดยเทียบระยะกับหลักกิโลข้างทาง
January 11 , 2023 | THAIPRADITMOTOR.CO.TH